Last updated: 20 มี.ค. 2562 |
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สัตว์ปีก ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีเป็ดไก่ของชาวบ้านล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน โดยอากาศที่ร้อนอบอ้าว สลับกับฝนตก เป็นปัจจัยที่ทำให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยสาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พาสจูเรลลา มัลโตซิดา ก่อความเสียหายมากที่สุดในไก่งวง รองลงมาคือ เป็ด ห่าน ไก่เนื้อ และไก่ไข่ตามลำดับ ส่วนนกก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน สัตว์จะแสดงอาการป่วยเร็วขึ้นหากอยู่ในสภาวะเครียด ติดเชื้อมากกว่า 1 ชนิดหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนใหญ่สัตว์จะแสดงอาการภายใน 2 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และมีอัตราการตายที่ 10-20% ของฝูง สัตว์ป่วยสามารถแพร่เชื้อผ่านปาก จมูก และตา ปนเปื้อนไปกับน้ำและอาหาร เข้าสู่ร่างกายสัตว์ผ่านทางการกิน การสัมผัสกับเยื่อเมือกของร่างกาย แผลที่ผิวหนัง และอาจมีหนูและนกเป็นสัตว์พาหะได้ อาการที่พบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ไม่มีอาการหรือ มีอาการไม่กี่ชั่วโมงก่อนตาย เช่น เป็นไข้ หายใจเร็ว กินลดลง ขนยุ่ง บริเวณหน้ามีสีคล้ำ อาการท้องเสียระยะแรก จะเป็นน้ำสีขาวขุ่น ต่อมาเป็นมูกสีเขียว ถ้าไม่ตาย สัตว์ก็จะผอมแห้ง และเป็นโรคเรื้อรังต่อไป เมื่อผ่าดูแล้ว จะพบเลือดคั่งและเลือดออกที่ไขมันรอบหัวใจ ไขมันช่องท้อง กระเพาะแท้ มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ช่องท้อง ปอดอักเสบ มีสีคล้ำ ตับบวมอักเสบ มีจุดเนื้อตายสีขาว- เหลือง กระจายทั่วตับ มูกเหนียวในทางเดินอาหารและช่องท้อง และมีไข่แดงตกลงมาในช่องท้อง กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยเกิดจากสัตว์ที่ผ่านระยะเฉียบพลันมาหรือ มีการติดเชื้อเฉพาะที่ โดยจะมีอาการคอบิด หลังแอ่น หายใจเสียงดังและลำบาก สัตว์จะแสดงอาการของโรคนานและตายอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่าซากมักพบแผ่นหนองสีขาวเหลืองตามบริเวณข้อ อุ้งเท้า ช่องท้อง ท่อนำไข่ โพรงกระดูกหัวกะโหลก การรักษาทำได้โดย คัดแยกไก่ป่วย โดยหากมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องทำลายทิ้ง หรือไม่รุนแรงมากก็แยกเพื่อทำการรักษา โดยการให้ยาได้แก่ ด๊อกซี่ซัยคลิน เอนโรฟล๊อกซาซีน อ๊อกซี่เตตร้าซัยคลิน คลอเตตร้าซัยคลิน ซัลฟา+ไตรเมทโตรพริม เจนต้ามัยซิน และอะม๊อกซี่ซิลิน โดยละลายน้ำ 5-7 วัน แล้วหยุด 1-2 วัน แล้วให้ใหม่อีกรอบ เพื่อเป็นการทำให้โรคหายขาด ประสิทธิภาพการรักษาขึ้นกับโด๊สยา ระยะเวลาการรักษา และช่วงเวลาที่เริ่มต้นการรักษา อาจใส่อีรีโทรมัยซิน หรือใส่คลอรีนในน้ำดื่ม เพื่อลดการแพร่เชื้อทางน้ำ อีกทั้งต้องดูแลวัสดุรองพื้นให้แห้ง โรงเรือนมีการระบายอากาศที่ดี และใช้ยาฆ่าเชื้อพ่นรอบๆทางเดินและจุ่มเท้าและอุปกรณ์ต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงมาก แต่ก็สามารถถูกทำลายได้โดยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป แสงแดด ความร้อนและความแห้ง การติดเชื้อครั้งแรกมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่บางตัวที่หายป่วยแล้วอาจเป็นพาหะของโรคได้ การให้วัคซีนมักทำให้พื้นที่ที่เคยพบการแพร่ระบาดหรือมีความเสี่ยงของโรคเท่านั้น ในไก่สามสายมักให้วัคซีนครั้งเดียวที่อายุ 3-4 สัปดาห์ ในไก่ไข่และไก่พันธุ์ มักให้วัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ 4 สัปดาห์ และครั้งที่สองห่างกัน 4-6 สัปดาห์ วัคซีนเชื้อเป็นมีข้อดีกว่าเชื้อตาย เนื่องจากให้ภูมิคุ้มกันครอบคลุมถึงเชื้อสายพันธุ์อื่นด้วย
ผู้เขียน สพ.ญ.จารุวรรณ บุญเกษม
อ้างอิง จิโรจน์ ศศิปรียจันทร์. 2553. โรคอหิวาต์สัตว์ปีก. ใน: คู่มือโรคไก่. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพลส จำกัด. 134-138.
Cornell University, College of Veterinary medicine www.poultrydisease.ir/atlases/avian-
atlas/search/disease/494.html
29 มิ.ย. 2560
18 เม.ย 2562
18 เม.ย 2562