Last updated: 18 เม.ย 2562 |
โรคนี้เกิดได้โดยมี "เห็บ" เป็นพาหะ ของเชื้อโปรโตซัวและริกเก็ตเซีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบในเม็ดเลือดของสุนัข เป็นโรคร้ายแรงและให้สัตว์เสียชีวิตได้
เรื่อง "เห็บ" เป็นเรื่องที่ฮือฮากันอีกครั้ง เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวตามสื่อว่า "กองทัพเห็บจำนวนนับล้านตัว กระจายเกลื่อนเต็มหมู่บ้าน ใน จ.สุราษฎร์ธานี" โดยเฉพาะข้อความที่ว่า "เห็บเหล่านั้นกินเลือดสุนัขพันธุ์อัลเซเชียนที่เลี้ยงไว้จนตาย"
พออ่านเนื้อความแบบนี้แล้ว ทำให้ผมจินตนาการไปถึงภาพยนต์ที่เกี่ยวกับ "เอเลี่ยนจากต่างดาวกำลังกัดกินสุนัขจนเสียชีวิต" หรือไม่ก็เป็น "แดร็กคิวลากำลังดูดเลือดสุนัขจนหมดตัว" เลยทีเดียว ทั้งๆ ที่จริงแล้ว การเสียชีวิตของสุนัขเนื่องจากเห็บนั้น มีสาเหตุมาจาก "เชื้อโรค" ที่มีอยู่ในตัวเห็บ จนทำให้เกิด "โรคพยาธิในเม็ดเลือด" มากกว่า ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในวันนี้เราจะมาคุยเรื่อง "โรคพยาธิเม็ดเลือดที่เกิดจากเห็บ" กันครับ
โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวและริกเก็ตเซีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบในเม็ดเลือดของสุนัข ทั้งเม็ดเลือดแดง (ได้แก่ Babesia และ Anaplasma) และในเม็ดเลือดขาว (ได้แก่ Ehrlichia และ Hepatozoon)
โรคนี้เกิดได้โดยมี "เห็บ" เป็นพาหนะ ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและให้สัตว์เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะสุนัขเด็กและสุนัขอายุมากที่มีความแข็งแรงต่ำครับ
==============
สอบถามผลิตภัณฑ์ ได้ทาง LineID : @pillasupply
==============
การติดต่อ
ติดต่อได้โดย การถูกเห็บที่มีเชื้อในน้ำลาย "กัด" เชื้อในน้ำลายเห็บจะถูกปล่อยผ่านเข้ากระแสเลือด ไปยังเม็ดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆ ในบางชนิดอาจติดต่อโดยการ "กิน" เห็บที่มีเชื้อเข้าไป ดังนั้นควรหมั่นตรวจดูว่า สัตว์เลี้ยง มีเห็บ หรือหมัดเกาะอยู่ตามร่างกายเค้าหรือไม่ ซึ่งก็ป้องกันได้โดยการใช้ยากำจัดเห็บหมัด ซึ่งมีหลายแบบ ทั้งแบบ ยาหยอดหลังคอ แบบฉีด หรือ แบบกิน
อาการของโรค
แบ่งตามชนิดของการติดเชื้อดังนี้
1. Ehrlichia spp. พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย และทุกสายพันธุ์ เกิดโดยสุนัขถูกเห็บที่มีเชื้อในน้ำลายกัด อาการที่พบ มี 2 ระยะ คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
แบบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาจพบภาวะตับหรือไตอักเสบ จนถึงมีอาการทางประสาท เช่น ชัก เกร็ง และเสียชีวิตได้ภายใน 1-3 วัน หลังจากที่พบภาวะไข้สูง มักพบเลือดกำเดาไหลและพบจุดเลือดออกตามร่างกาย จนถึงตาบอด หากสุนัขร่างกายแข็งแรง ร่างกายอาจพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อได้เอง แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอสุนัขก็จะพัฒนาเข้าสู่อาการแบบเรื้อรัง
แบบเรื้อรัง สุนัขจะมีอาการซึม มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก ไขกระดูกทำงานบกพร่อง เกิดภูมิคุ้มกันที่ทำลายตัวเอง ทำให้กิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเสียชีวิตได้
2. Babesia spp. ในลูกสุนัขจะแสงอาการรุนแรงกว่าในสุนัขโต อาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้สูง โลหิตจาง ซึม เบื่ออาหาร ในรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการดีซ่านร่วมด้วย เยื่อเมือกที่เหงือก ตาขาว และใบหูจะซีดเหลือง ปัสสาวะเป็นสีส้มแดงหรือน้ำตาล จากการแตกของเม็ดเลือดแดง เกิดภาวะตับและม้ามโต บางรายอาจมีอาการระบบประสาท เกร็ง ชัก และเสียชีวิตได้ในที่สุด
3.Hepatozoon spp. เกิดจากสุนัขกินเห็บที่มีเชื้อเข้าไป นอกจากนี้เชื้อยังถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย อาการที่แสดงออกมักไม่ชัดเจน เช่นเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ท่าทางการเดินผิดปกติไป มีน้ำมูก น้ำตา ท้องเสีย เบื่ออาหาร กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก และอาจมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย
4.Anaplasma spp. ติดโดยถูกเห็บที่มีเชื้อนี้กัด ระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อจะแฝงอยู่ในร่างกายของสุนัข และแสดงออกเมื่อร่างกายมีสภาพภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการหลักที่พบจะคลายกับชนิดอื่นคือ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อเมือกซีด เลือดออกจมูก เกล็ดเลือดต่ำ เกิดจุดเลือดออกตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณข้อ ข้ออักเสบ อาจพบอาการอื่นด้วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย ไอ หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาทเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ชัก เดินโซเซ ร่วมด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
23 ธ.ค. 2561
18 เม.ย 2562
18 เม.ย 2562